กลับมาพบกันอีกครั้งกับช่วงเก็บตกจากงาน Netflix Anime Festival 2020 ซึ่งหลังจากครั้งที่แล้วเราได้มีการพูดคุยไปกับ 3 ตัวแทนจากภายในงานกันไป โดยสำหรับวันนี้เราจะมาต่อกับการสัมภาษณ์เดี่ยวสุดพิเศษกับคุณ Taiki Sakurai ซึ่งเป็น Chief Producer จากทาง Netflix ประเทศญี่ปุ่นที่รับผิดชอบในการผลิตแอนิเมชันต่าง ๆ นั่นเอง

การทำงานของ Taiki Sakurai ใน Netflix

คุณ Taiki Sakurai เริ่มต้นทำงานที่ Netflix ในฐานะผู้รับผิดชอบแผนกแอนิเมชันในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2017 ซึ่งแม้ว่าเขาจะเรียกว่าแผนก แต่แท้จริงแล้วการทำงานช่วงแรกนั้นมีเพียงเขาคนเดียวในทีม เขาเป็นผู้รวบรวมแอนิเมชันและสตูดิโอต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ให้มาร่วมงานกับ Netflix และขยายจนกลายเป็นหนึ่งในเนื้อหาหลักบนแพลตฟอร์มได้อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน พร้อมกับสมาชิกในทีมที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

ปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่คล้าย Netflix คิดว่า Netflix มีความต่างกันอย่างไรบ้าง

Taiki Sakurai: เราคิดว่าเรามีความใกล้ชิดกับกลุ่มผู้สร้างคอนเทนต์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในระดับนานาชาตินั้นคิดว่าเราน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่มีจุดเด่นในระบบการทำงาน ซึ่งไม่ได้จำกัดไว้เพียงแต่ญี่ปุ่น แต่เรารวมไปถึงทั่วโลกนั่นเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ชมได้ครับ เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากกแพลตฟอร์มอื่น ๆ เราสามารถที่รวบรวมผู้สร้างจากนานาประเทศเอาไว้ที่เดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่กับผลงานและผู้สร้างจากประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่ามันคือจุดแข็งที่สุดของเราครับ

มีคนเชื่อว่าอนิเมเป็นกลุ่มตลาดเล็ก คุณพอมีวิธีอย่างไรบ้างที่จะนำเสนอไปยังกลุ่มผู้ชมอื่น ๆ ใน Netflix

Taiki Sakurai: มันอาจจะเป็นมุมมองที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นเพียงกลุ่มตลาดเล็ก ๆ แต่คุณจะเห็นได้ในงานนี้ว่ามีคนดูอนิเมกว่าร้อยล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชัดเจนว่ามันไม่เล็กเลยนะ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยดูอนิเมของทางเรามาก่อน เราคิดว่าสิ่งที่ท้าทายคือทำยังไงให้คนกลุ่มนี้หันมาสนใจ ทั้งในญี่ปุ่นและจากทั่วโลก มันมีหลากหลายแนวที่ผู้ชมยุคหลังให้ความสนใจมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นแนวต่อสู้ ไซไฟและแฟนตาซี แต่ตอนนี้มีแนวยิบย่อยเช่นคอเมดี้ สยองขวัญ หรือโชโจมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมหวังว่าเนื้อหาเหล่านี้จะทำให้อนิเมเข้าถึงคนอื่น ๆ มากขึ้นในอนาคต

เนื้อหาของทาง Netflix โดยส่วนมากที่เรารับรู้มักจะอยู่กับเนื้อหาในชีวิตประจำวัน คุณคิดว่าปัจจัยอะไรอีกที่ใช้ในการคัดเลือกอนิเมต่าง ๆ จากญี่ปุ่นออกสู่โลกภายนอก

Taiki Sakurai: คำถามนี้ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมเพิ่งได้ตอบไปครับ คนถามน่าจะเชื่อว่าเรามีเนื้อหาหลักๆ อยู่ในมุมมองนี้ แต่ผมมองว่าทุกวันนี้เราไม่ได้โฟกัสอยู่ที่แนวชีวิตประจำวัน แต่ยังรวมไปถึงไซไฟ ผจญภัย และเรายังขยายแนวออกมาด้วย เช่นแนวคอเมด้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณต้องการจะดูอะไร เราเชื่อว่ามันจะมีเนื้อหาบางอย่างที่ตอบสนองความต้องการของคุณแน่นอน

ในมุมมองของทาง Netflix เปรียบเทียบกับผู้ให้บริการอื่น ๆ แล้ว Netflix มีมุมมองที่อยากจะให้เป็นสิ่งที่มีความเฉพาะทาง ที่แตกต่างจากทุก ๆ คน ในฐานะที่คุณเองก็นับว่าเป็น Content Developer คนหนึ่งในวงการนี้แล้ว มีความเห็นอย่างไรบ้าง?

Taiki Sakurai: ตัวผมเองอย่างที่ทราบกันว่าดูแลในด้านของอนิเม และอนิเมก็จะมีองค์ประกอบมากมาย เช่น ผู้แต่ง ผู้ออกแบบตัวละคร โปรดิวเซอร์ แอนิเมเตอร์ และอื่น ๆ ซึ่งพวกเขาจากหลาย ๆ ที่ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อ Netflix เราจึงอยากจะทำให้ Netflix คือพื้นที่ที่ทุกคนอยากจะมีส่วนร่วมในการทำงานด้วย ซึ่งจุดนี้คุณจะเห็นว่าเรามีผลงานมากมายที่ผลิตร่วมกับพาร์ทเนอร์ของเรา ซึ่งการที่เราเปิดพื้นที่ให้นำเสนอมันคือสิ่งที่พิเศษบน Netflix คุณเป็นอิสระแต่ในขณะเดียวกันคุณได้รับแรงสนับสนุนมากมายจากทางเรา ซึ่งเราเชื่อว่าหลายๆ คนก็คิดเช่นนั้นกับเรา โดยสำหรับเราแล้วเราอยากจะเป็นตัวเลือกแรกสำหรับผู้ผลิตในวงการ เราอยากเป็นผู้สนับสนุนทุกคนที่อยากมีผลงาน และในตอนนี้เราก็เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของทุกคนตามที่หวังไว้ครับ

ในบทสัมภาษณ์นี้เราได้พูดถึงประเด็นของ “หมวดหมู่เนื้อหา” กันมากเป็นพิเศษ อยากทราบว่าปัจจุบันทาง Netflix มีชนิดหมวดหมู่ของอนิเมที่เจาะจงพิเศษในระยะนี้ไหม

Taiki Sakurai: แนวโชโจครับ เนื้อหาแนวนี้ผมมองว่าเรายังมีน้อยมากที่อยู่ในการผลิตของเรา เราอยากที่จะเข้ามาจับงานแนวนี้ และอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากอย่างแนวโชเน็น อย่างของทางชูเอฉะที่ทุกคนชอบ ที่เกี่ยวกับชัยชนะ มิตรภาพต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือเนื้อหาที่เราอยากจะลองทำออกมาครับ                                                            

ทาง Netflix จะมีโอกาสร่วมงานกับ Kyoto Animation มากขึ้นหรือไม่                        

Taiki Sakurai: แน่นอน เราจะมีการร่วมงานกันเรื่อย ๆ ผลงานของเขามีคุณภาพสูงและเชื่อว่าทุกคนรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดีสำหรับทางเกียวโตอนิเมชัน คุณจะได้เห็นผลงานของเขาเรื่อย ๆ ครับ

เราพูดถึงเนื้อหาที่ Netflix สนใจกันไปในวันนี้ แต่มุมมองของการผลิตผลงาน การวางแผนต่าง ๆ เมื่อคุณต้องเลือกผลงานที่จะนำมาผลิต สำหรับคุณแล้ว มีอะไรเป็นปัจจัยในกรตัดสินใจบ้าง

Taiki Sakurai: เราจะต้องเลือกด้วยหลายปัจจัย เช่นหากเป็นงานเรื่องใหม่เลย มันก็มีความเสี่ยงมาก ถ้ามีต้นฉบับอาจจะเสี่ยงน้อยลง เพราะฉะนั้นตัว IP (ทรัพย์สินทางปัญญา) ที่เลือกจึงมีประเด็นของ “ความนิยม” มาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งทุกคนคงเข้าใจอยู่แล้วในพื้นฐาน มันขึ้นอยู่กับสตูดิโอ ผู้สร้างต่าง ๆ ที่เรารวมกันเป็นทีมนั้น จะมีความพร้อมแค่ไหนในการผลิต IP ออกมาได้ดีที่สุด ในบางครั้งเรื่องที่ไม่ได้เป็น IP ที่ดังจะมากมาย อาจจะมีความพร้อมของทีมที่จะผลักดันการผลิตให้ออกมา

คุณคิดว่าผู้ชมจากต่างประเทศ และญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันอย่างไร

Taiki Sakurai: คำถามข้อนี้นับว่าน่าสนใจครับ สำหรับผมเองผมมองว่าแตกต่างนะ เช่นเราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมบางเรื่องดัง บางเรื่องไม่ดังตามที่เราหวัง เช่นเรื่องนึงที่ผมไม่สามารถบอกได้ว่าคือเรื่องอะไร แต่กลับดังมาก ๆ ในประเทศไทยทั้งที่เนื้อหาไม่ใช่แนวเจาะกลุ่มคนไทย แต่ถ้าเรื่องส่วนมากในญี่ปุ่นมันคือบ้านของเรา มันก็เลยดังตามความเคยชิน หรือบางเรื่องที่จู่ ๆ ก็ดังขึ้นมาในเวียดนาม ทั้ง ๆ ที่ทุกประเทศอื่น ๆ ไม่ได้รับความนิยมเลย เรายังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปตรงนี้ได้

อยากทราบว่า ใน Netflix นั้นมีผลงานมากมายที่ได้ฉายสดพร้อมกับประเทศญี่ปุ่นในบางพื้นที่ แต่บางพื้นที่เราจะได้รับชมมันหลังจบไปแล้วระยะหนึ่ง หรือปีหนึ่ง คุณพอจะบอกได้หรือไม่ว่าอะไรคือตัวกำหนดความถี่ในการเผยแพร่ผลงานเหล่านี้

Taiki Sakurai: ช่วงที่ผมเข้ามาทำงานครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน เราตั้งเป้าว่าจะปล่อยทุกตอนรวดเดียวตลอด เพราะว่ามันทำให้คนมาดู มาติดตามเราในระยะยาว และคิดว่าผู้ชมหลาย ๆ คนต่างต้องการชมรวดเดียวจบ มันคือสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันบางเรื่องบางทีมันยังผลิตไม่เสร็จเลยต้องค่อย ๆ ปล่อย เช่นเราอาจจะได้ตอนใหม่มาในเวลาก่อนออกอากาศไม่นานนักซึ่งการที่จะทำการแปลในหลาย ๆ ประเทศให้มีความพร้อมกันนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับขั้นตอนการสร้าง มีกรณีต่าง ๆ กันไป แต่ก็เข้าใจว่าคนไทยไม่อยากให้มีดีเลย์ แต่บางทีมันก็มีเวลาในการแปลและเวลาในการพากย์ เลยต้องดูความเหมาะสมกันไป แต่เราจะดูแนวทางอื่นๆ ในอนาคตให้สามารถพัฒนาด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้นครับ