อ่านจบแล้วก็หวังว่าคงไม่ใช่โฆษณาหลอกให้คนแห่กันไปตุนชาดำจนขาดตลาด…

ชาอาจเป็นเครื่องดื่มที่นำไปดื่มกันในสารพัดรูปแบบ และแน่นอนว่าต้องมีคนที่ทั้งชอบ และไม่ชอบดื่มชา แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ดื่มชาเท่าไหร่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยการแพทย์นาราชิ้นนี้อาจทำให้คุณต้องเปลี่ยนความคิด และหันมาลองดื่มชาเป็นประจำบ้างก็ได้

นั่นเพราะว่าจากการวิจัยทำให้พบว่าในชาซึ่งมีสารฟลาโวนอยด์ที่ชื่อว่า “คาเทชิน” (catechin) ที่มีคุณสมบัติในการไปเคลือบผิวของเชื้อ COVID-19 ด้วยเหตุนี้ทำให้พื้นผิวที่เป็นหนามของมันถูกปกคลุม และยากต่อการฝังตัวในร่างกายมากยิ่งขึ้น

คลิปอธิบายกระบวนการติดเชื้อ COVID-19 ตามแบบปกติ

ทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองด้วยชาเขียว และดำ 10 ชนิดที่วางขายเป็นขวด ๆ ทั่วญี่ปุ่น เพื่อทดสอบในหลอดทดลองที่บรรจุเชื้อ COVID-19 ไว้

ชาดำ ซึ่งตามจริงแล้วก็เป็นชาเขียว และชาอู่หลงที่ผ่านการออกซิไดซ์อย่างหนักนั้นแสดงผลลัพธ์ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และสามารถลดจำนวนเชื้อ COVID-19 ที่มีความสามารถในการฝังตัวลงได้ถึง 99% ในเวลาเพียง 1  นาที และลดไปถึง 99.9% ในเวลา 10 นาที

แม้ว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมแต่ว่าหลอดทดลอง และร่างกายมนุษย์นั้นเรียกได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ต่างกันอย่างมาก ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่ชัดนักว่ากระบวนการนี้จะแสดงผลอย่างไรภายในร่างกายมนุษย์ แต่ก็มีผลการวิจัยในอดีตที่บอกว่า คาเทชินในชาเขียวสามารถยับยั้งการติดเชื้อไข้หวัดในสัตว์ และมนุษย์ได้ ดังนั้นตามตรรกะนี้มันก็อาจสามารถทำงานได้ในแบบเดียวกันในกรณีนี้

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการพัฒนาที่น่าคาดหวัง แต่ดูเหมือนความคิดเห็นบนโลกออนไลน์จะไม่ได้ตื่นเต้นเสียเท่าไหร่นัก

“เยี่ยม ทีนี้ถ้าฉันสามารถเอาเชื้อ COVID-19 ทั้งหมดมาอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลาหนึ่งนาที ฉันก็จะสามารถราดชาลงไปใส่พวกมันได้สินะ…”

“นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย คาเทชินนั้นเป็นที่รู้จักกันดีว่าสามารถยับยั้งไวรัส และเชื้อราได้”

“งั้นที่คุณต้องทำก็แค่เติมชาเข้าไปในร่างกายเหมือนที่ทำกับหลอดทดลองสินะ”

“เอาหละถึงเวลาซื้อชากันอย่างบ้าคลั่งแล้ว”

“ฉันจะรอดูว่าชาจะโดนขายแพงแค่ไหนบนเว็บประมูล”

“แต่คนอังกฤษดื่มชาเยอะมากก็ไม่เห็นว่ามันจะได้ผลเลยนี่ ฉันคิดว่าคุณคงต้องดื่มมันเยอะมาเพื่อให้มันเกิดผล”

สำหรับสถานการณ์ในอังกฤษนั้น จริง ๆ แล้วชาดำไม่ได้เป็นที่แพร่หลายนักในอังกฤษเมื่อเทียบกับในเอเชีย ยังไม่รวมถึงข้อสำคัญที่ว่าไม่ใช่คาเทชินทั้งหมดจะถูกสร้างมาเหมือนกันเสียหมด สารเคมีตัวนี้พบได้ในหลายแหล่ง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะให้ผลกับไวรัสและร่างกายของเราเหมือนกันเสมอไป อย่างเช่นจากการทดลองก็ชี้ให้เห็นว่าชาเขียวนั้นไม่ได้แสดงประสิทธิภาพออกมาดีนักเมื่อเทียบกับชาดำ

และข้อควรจำที่สำคัญที่สุดคือการดื่มชาไม่ได้ทำให้คุณต้านทานเชื้อ COVID-19 แต่การดื่มชาอาจเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ช่วยป้องกันตัวเราได้ไปพร้อม ๆ กับการสวมหน้ากาก และหมั่นล้างมืออยู่เสมอ

ในขณะนี้เองทางมหาวิทยาลัยการแพทย์นาราเองก็เหมือนจะเห็นด้วยกับคอมเมนท์บางส่วนว่านี้อาจทำให้เกิดเหตุแห่ไปซื้อชามากักตุน พวกเขาจึงยังไม่ได้เปิดเผยออกมาว่าชายี่ห้อใดที่ทดสอบออกมาแล้วให้ผลดีที่สุด